คะลำ อีปูค้าตัวบักใหญ่ไต่เข้าบ้านเฮา

เมื่ออีปูเดินเข้าบ้านยังจำได้ไหมผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่เราจะชอบห้ามไม่ให้นำไปประกอบอาหาร มันคะลำ ต้องปล่อยมันไปตามทางให้เป็นทาน แอดมินเกิดและโตมาในจังหวัดเลย แม่เป็นคนลูกสาวสุดท้อง และต้องเลี้ยงพ่อโซ้นแม่โซ้น ในบ้านหลังเดียวกัน เวลาว่างๆ ยามที่ไปนั่งด้วยข้างๆ พ่อโซ้นแม่โซ้นก็จะมีเรื่องเล่า เรื่องในอดีตและเรื่องต้องห้าม หรือคะลำแบบต่างๆ ให้ได้ฟังกันบ่อยๆ รวมทั้ง เรื่องที่จะขอเล่าฟังต่อไปนี้ เท่าที่ภาพในวัยเด็กจะจำได้ ...ตอนนั้นเป็นฤดูปลายฝนต้นหนาว และเป็นช่วงที่ฝนตกผ่านไปพอดีปูชูกก้ามโต

"ไหนลูกแม่ขอดูสิ โอ๊ะนั้น อีปูค้า นะ"
"อีปูค้า เหรอครับแม่"
"ใช่แล้วจ๊ะลูก"
"กินได้บ่อตัวบักใหญ่เลย"
"ถ้าเห็นอีปู เดินเข้าบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ เผิ่นห้ามจับไปกินเด็ดขาด มันคะลำ"
"คะลำยังไงแม่ ? เล่าให้ฟังหน่อยนะครับ"
"งั้นลูกมานั่งตรงนี้ดีกว่า แม่จะเล่าให้ฟังเด้อ"ปูตัวใหญ่กำลังเดินไป

"โบราณเผิ่นเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนหลังทำนาเสร็จ ปลายฝนต้นหนาว ชาวบ้านก็จะพากันต่ำฮูก(ทอผ้า) ให้เสร็จก่อนเอาข้าวขึ้นเล้า(ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว) ครั้งนั้น มีผู้สาวคนหนึ่งกำลังต่ำฮูกอยู่ใต้ถุนบ้านคนเดียว อยู่อยู่ก็มีอีปู ไต่เข้ามาในบ้าน มาหนีบดึงตีนซิ่น (ผ้าถุง) ดึงแล้วดึงอีก สาวนั้นก็ไม่สนใจ ต่ำฮูกไปเรื่อยๆ ปูก็ไม่ลดความพยายาม หนีบและดึงต่อไป จนสาวนั้นหยุดต่ำฮูกแล้วคิดไปว่า อีปูตัวนี้คงไม่ใช่อีปูธรรมดาแน่ๆ คงเป็นปูเทวดา หรือปูเจ้าที่ ไม่แน่ปูตัวนี้อาจจะพาเราไปเจอของดี แก้วแหวนเงินทอง เป็นแน่ จากนั้นสาวเจ้าก็เดินตามปูตัวนั้นไปที่ริมแม่น้ำ แล้วก็หายไปไม่กลับมาอีกเลย พ่อแม่กลับบ้านไม่เห็นลูกสาว เลยพาชาวบ้านออกตามหา ก็ไปพบแต่หัวของหญิงสาวอยู่ริมแม่น้ำ และรอยเท้าจระเข้ตัวใหญ่....."การต่ำหูก ทอผ้าของคนจังหวัดเลย

"อีปูค้ากลายเป็นจระเข้ เหรอครับ คือมาตาย้าน น่ากลัวแท้"
"โบราณเล่ามาอย่างนั้นจ๊ะ อีปูค้ากลายร่างเป็นจระเข้มากินผู้สาวคนนั้น"
"ต่อไปถ้าผมเจออีปูค้า ผมจะปล่อยมันไปครับแม่"
"ดีแล้วจ๊ะลูก"ปูก้ามเดียวกำลังจะมาหนีบ

ความคะลำ เป็นกลอุบายของคนเฒ่าคนแก่มาแต่โบราณ มีจุดประสงค์เพื่อสอนลูกหลานให้เชื่อฟัง รู้จักคุณธรรม ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกหลาน หรือให้สังคมชุมชนเกิดความสงบสุข โดยใช้กุศโลบายต่างๆ ส่วนมากจะนำมาจาก วิถีชีวิต ความเชื่อ เหตุการณ์ หรือสภาพความเป็นอยู่ในขณะนั้น ซึ่งความคะลำ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อความงมงาย หรือให้เข้าใจผิดแต่อย่างใด หากมองให้เข้าใจลึกลงไปอีก จะเห็นถึงความฉลาดของบรรพบุรุษคนอีสานที่สืบทอดส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ความเชื่อของคนอีสาน