หอยแก้วน้อย "ทากบกชนิดใหม่ของโลก" พบที่ ภูผาล้อม จ.เลย

นักวิจัยม.มหาสารคามค้นพบ“หอยแก้วน้อย” ทากบกชนิดใหม่ของโลก ที่จ.เลย ในเขาหินปูนแถบภูผาล้อม บ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพ
วันนี้(23ก.พ.60)นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคามค้นพบหอยทากบกชนิดใหม่ของโลก ที่หินปูนแถบภูผาล้อม จังหวัดเลย ซึ่งการค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สภาพภูมิศาสตร์ในแถบนี้ ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ

หอยทากบกชนิดใหม่นี้มีชื่อว่า “หอยแก้วน้อย” ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Sesara triodon (ซีซารา ไทรโอดอน) มีเปลือกขนาดเล็ก รูปร่างแบน แข็ง เรียบ และใส ขอบปากเปลือกด้านในมีการสร้างติ่งยื่นออกมา ลักษณะคล้ายมีฟัน 3 ซี่ สำหรับการค้นพบในครั้งนี้เป็นงานวิจัยระดับปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ของนายกิตติ ตันเมืองปัก ค้นพบในปี 2017 ที่เขาหินปูนบริเวณภูผาล้อมจังหวัดเลย

โดยหอยทากในสกุล Sesara (ซีซารา) เคยศึกษาและมีรายงานในประเทศไทยมาแล้ว 2 สปีชีส์ ได้แก่ S. parva Solem (ซีซารา ปาร์วา โซเล็ม) ค้นพบในปี 1966 บริเวณดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และ S. megalodon Blandford (ซีซารา เมกาโลดอน เบรนด์ฟอร์ด) ในปี1902 ที่พิษณุโลก ซึ่งหอยทากทั้งสองสปีชีส์มีฟันบริเวณปากเปลือก 2 และ 4 ซี่ ตามลำดับ
456789.jpg

นอกจากลักษณะภายนอกที่ต่างจากหอยในสกุลเดียวกันแล้ว จากการศึกษาลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ระบบสืบพันธุ์ และรูปร่างลักษณะของแผ่นฟันก็มีความต่างกัน ซึ่งข้อมูลทั้งสองส่วนนี้นำมาสนับสนุนข้อมูลทางสัณฐานวิทยาของเปลือก จนสามารถแยกออกเป็นหอยทากสปีชีส์ใหม่ของโลกได้

การค้นพบ “หอยแก้วน้อย” ซึ่งเป็นหอยทากบกชนิดใหม่ของโลกนั้น สามารถบ่งบอกสภาพทางภูมิศาสตร์ได้ว่า ในพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยยังมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ซ่อนเร้น รอการค้นพบอีกมาก โดยข้อมูลจากการวิจัยนี้ยังสามารถใช้เป็นตัวอย่างในการสอนวิชาสัตวภูมิศาสตร์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ขอบคุณภาพและข้อมูล:http://www.tnnthailand.com