โบราณสถาน

โบราณสถาน
แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ หลายแห่งในเขตจังหวัดเลยแสดงร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น บริเวณริมน้ำโขง อำเภอเชียงคาน พบเครื่องมือหินจำพวกชุด สับและตัด ทำจากหินกรวดแม่น้ำกะเทาะหน้าเดียว เพื่อใช้ในสังคมล่าสัตว์ ภาชนะดินเผา สร้อยข้อมือ ซึ่งมี ลุกปัด ลูกหระพรวนสำริด ขวานหิน
บริเวณลุ่มน้ำเลย ตอนต้นคือรอยต่ออำเภอภูกระดึง อำเภอหนองหิน ภูหลวง และอำเภอวังสะพุง ปรากฏหลักฐาน จำพวกภาชนะดินเผาลายเชือกทาบอายุประมาณ 1700-2300 ปี กำไลหิน เบ้าหลอมโลหะ และ แม่พิมพ์ขวานสำริด
บริเวณลุ่มน้ำเลย ตำบลนาอาน อำเภอเมืองเลย นักธรณีวิทยา ได้สำรวจพบเครื่องมือหิน กะเทาะสองหน้ามีรูปไข่ รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขวานหิน ชนิดมีดบ่า และไม่มีบ่า ตลอดจนภาชนะดินเผาลายขูดขีด ลายกด และลายเชือก
ขุนเขาใหญ่น้อยในเขตจังหวัดเลย ล้วนงดงาม ตามธรรมชาติ และมีคุณค่าอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์ เพราะอดีตยาวนานของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซ้อนเร้นอยู่ตามเพิงผาสูงชัน ภาพเขียนสี หรือศิลปถ้ำ ในเขตอำเภอเมืองเลย อำเภอภูกระดึง และอำเภอหนองหิน บอกเล่าเรื่องราวของสังคมประกอบอาชีพในยุคนั้นๆ

เชิงเขา และถ้ำรอบภูกระดึง พบศิลปถ้ำมากมาย เช่น ถ้ำผาฆ้อง ถ้ำลายแทง ถ้ำมือ ถ้ำคิวริว ถ้ำพระ ถ้ำสูง ถ้ำมโหฬาร ส่วนอำเภอเมืองเลย พบที่ถ้ำผาปู่ และถ้ำขาม บ้านทรัพย์มงคล

ศิลปถ้ำเหล่านี้ อายุ 1300-2000 ปี ภาพเหล่านี้เป็นภาพแทนความคิด ของกลุ่มชนดั้งเดิม สะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ เชื่อมโยงอดีตให้คนปัจจุบันได้รับรู้และช่วยกันรักษาไว้สืบไป

แหล่งที่มา
หนังสือ ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ของดีไทเลย
นายฐานันคร ศรีสุธรรม